หลังงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ถนนข้าวสารมีความยาวเพียง 340 เมตรเท่านั้น แต่เต็มไปด้วยโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารนับร้อยร้าน แต่ร้านที่เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติแม้จะไม่เคยมาเมืองไทย ก็คือร้านอาหารที่เอาชื่อต้มยำกุ้งมาเป็นชื่อร้าน และชาวต่างชาติที่มาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ก็มักจะไม่พลาดอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองไทย นั่นก็คือต้มยำกุ้ง
ในประเทศมาเลเซีย ที่วิถีชีวิตของผู้คนมีความหลากหลาย มีวัฒนธรรมและอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นถิ่นของมลายู จีน และอินเดีย และที่กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีอาหารไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนมาเลเซียอยู่หลายร้าน แทบทุกร้านต้องมีชื่อว่าต้มยำห้อยท้าย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป็นร้านอาหารของคนไทยแท้ ๆ
ตัวเลขจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ระบุว่า มีร้านอาหารไทยที่มีชื่อว่าต้มยำในประเทศมาเลเซียถึง 35,000 ร้าน เฉพาะบนถนนสายนี้ ระยะทางประมาณไม่เกิน 1 กิโลเมตร เราพบร้านต้มยำของคนไทยมากกว่า 10 ร้าน
รสชาติอาหารที่คุ้นปากสำหรับชาวมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะมีรสค่อนข้างจืด แต่เน้นกลิ่นหอมแรงจากเครื่องเทศ ต้มยำกุ้งสำหรับชาวมาเลเซียจึงต้องปรับรสชาด ลดความร้อนแรงของพริก น้ำปลา และมะนาวลงอย่างละครึ่ง เพื่อให้ถูกปาก ติดใจชาวมาเลเซีย
ร้านต้มยำในประเทศมาเลเซียเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติไทยที่ปรากฏแก่สายตาผู้คนในต่างถิ่นต่างแดน เป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมการกินของชาติไทย และสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญาการทำอาหารของคนไทยที่สืบทอดสั่งสมมานมนานจนเป็นที่รู้จักและยอมรับ สร้างเอกลักษณ์ใหม่ที่เป็นสากลด้วยอาหารที่เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หากพูดถึงต้มยำ หมายถึงประเทศไทย
ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต
No comments:
Post a Comment