Sunday, November 20, 2011

ปลาทูไทย



หลายคนคิดว่าปลาทูไทยมีแต่ที่มาจากแม่กลองและอ่าวไทยเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วปลาทูตามตลาดทั่วประเทศ และที่มีรับประทานกันตลอดปีก็เพราะเรามีแหล่งจับปลาทู ทั้งจากฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่เพราะปลาทูอ่าวไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงออกกฎหมายให้ปิดอ่าวไทยตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูปลาทูวางไข่ โดยห้ามใช้อวนติดตาทุกชนิดทำประมงจับแม่ปลาทู ตั้งแต่บริเวณหน้าอ่าวประจวบคีรีขันธ์จนไปถึงบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดังนั้นช่วงเวลา 3 เดือนที่ห้ามจับปลาทู ปลาทูที่เรารับประทาน จึงเป็นปลาทูจากฝั่งอันดามัน  ที่มีให้จับกันตลอดทั้งปี การจับปลาทูต้องจับกันในคืนเดือนมืดเท่านั้น ซึ่งปลาทูที่จับได้ จะผ่านกระบวนการแยกขนาด นำไปแช่แข็งในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ ลบ 40 องศาเซลเซียสเพื่อให้คงสภาพความสดอยู่ได้นาน

แต่เดิมการส่งปลาทูไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต้องใช้วิธีการดองสดคือ การแช่ปลาในลังที่ใส่น้ำแข็ง  แต่ปัจุบันด้วยการแช่แข็งและระบบการขนส่งที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยทั่วทุกภาคมีปลาทูสดรับประทานกันตลอดทั้งปี 

ปลาทูไทยมีขนาดตัวเล็กลงจากในอดีตจนเห็นได้ชัด จาก 9 ถึง 10 ตัวต่อกิโลกรัมเมื่อหลายปีก่อน  ในวันนี้มีขนาดเฉลี่ยเหลือเพียง 12-14 ตัวต่อกิโลกรัมเท่านั้น  ปริมาณการจับปลาทูไทยในน่านน้ำอ่าวไทยก็ลดลงอย่างน่าใจหาย จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ  ภาพของปลาทูจำนวนมหาศาลจากประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน และอินเดียที่เดินทางข้ามทะเลผ่านเรือขนาดใหญ่ที่มีห้องแช่แข็งอยู่ใต้ท้องเรือ นำปลาทูมาขายถึงบ้านเรา สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในท้องทะเลไทยลดน้อยลง ทั้งจากน้ำเสียของมลพิษทางเรือ หรือมาตราการทางอุตสาหกรรม อีกทั้งการควบคุมที่ไม่เข้มงวด ปล่อยเสรีชาวประมงไปจับปลาในเขตอนุรักษ์ จึงอาจส่งผลให้เราต้องนำเข้าปลาทูจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี

ปลาทูไทยแม้ตัวเล็ก แต่เนื้อแน่นและหอมมันอร่อยกว่าปลาทูตัวใหญ่ ๆ แต่เนื้อกระด้างจากต่างชาติที่กำลังครองตลาดแทนปลาทูไทยแท้ ๆ ที่กำลังเหลือน้อยลงทุก ๆ วัน

ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment