Monday, November 21, 2011

ส้มตำอาหารเลี้ยงปากท้อง



หากพูดถึงประเพณีแห่เทียนพรรษา หลายคนคงต้องนึกถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.   2470 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 83 ปีแล้ว

เบื้องหลังความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของขบวนคือแรงศรัทธา แรงกายและแรงใจของชาวบ้านที่ใช้เวลาร่วมเดือน ทุ่มเท ประดิษฐ์เทียนพรรษาอันวิจิตร เข้าร่วมขบวนแห่และถวายเป็นกุศลบุญแก่วัดในช่วงเข้าพรรษา

เช่นที่วัดพระธาตุหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ช่างหลอมเทียนประจำคุ้มวัด จะเป็นผู้นำเทียนจากการบริจาคของชาวบ้านและที่ซื้อหามาเพิ่มเติม หลอมรวมกันจนได้สีเทียนที่เหลืองเข้ม นำไปเทลงแบบพิมพ์ ทิ้งจนเทียนเกาะติดกันและแห้งสนิท จึงแกะเทียนนำไปแปะเข้ากับโครงร่างที่ขึ้นแบบรอไว้ พร้อมให้ช่างแกะสลักเทียนวาดลวดลายอันวิจิตรเต็มฝีมือ สร้างสรรค์รูปร่างตามจินตนาการ

จากวัดพระธาตุหนองบัวห่างออกไปทางทิศตะวันออกราว 3 กิโลเมตร ที่วัดบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  ที่นี่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีการทำเทียนพรรษาเอาไว้ด้วยการใช้วิธีการติดพิมพ์  นั่นคือการที่ช่างทำเทียน นำเอาขี้ผึ้งต้มให้ละลาย จากนั้นเทใส่แม่พิมพ์ที่แกะเป็นรูปเตรียมไว้  เมื่อขี้ผึ้งเริ่มจับตัวกันเป็นก้อน  ช่างเทียนจะนำเอาขี้ผึ้งไปพิมพ์ลงบนแม่พิมพ์โดยการใช้ขวดแก้ว คลึงขี้ผึ้งให้ได้ลวดลายตามแบบพิมพ์ก่อนจะนำขี้ผึ้งที่ขึ้นลายแล้วไปตัดแต่งลวดลาย เพิ่มความคมชัดตามต้องการ  แล้วนำไปติดกับโครงที่ขึ้นเป็นรูปร่างไว้เป็นลวดลายอันวิจิตรตระการตา

กำลังหลักสำคัญที่ทำให้เทียนพรรษาสำเร็จได้อย่างงดงามคือกลุ่มแม่บ้านที่ต่างใช้ช่วงเวลานี้ ตระเตรียมอาหารเลี้ยงปากท้องช่างทำเทียนของท้องถิ่น  เป็นการมีส่วนร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่เหล่าชาวบ้านเต็มใจช่วยโดยไม่ต้องเอ่ยปากขอแรง

อาหารที่ทำในแต่ละวันจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในช่วงเวลานั้น เพราะแต่ละวันชาวบ้านจะนำวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีในครัวเรือน ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาประกอบอาหาร  แต่อาหารหลักที่ขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือส้มตำ ที่บรรดาช่างทำเทียนฝีมือดี ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกอีสาน หากขาดส้มตำ ก็จะขาดแรง

จากอาหารเพียงไม่กี่อย่าง ที่ปรุงขึ้นมาด้วยความเรียบง่าย และใจที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธาสามารถสร้างพลังให้กับช่างทำเทียน ทำให้เกิดผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุ้มวัดบูรพา ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศเทียนประเภทติดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2552  เป็นรางวัลให้ชาวบ้านในคุ้มวัดเล็ก ๆ มีกำลังใจจะสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ  สร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์ใหม่ ๆ ออกสู่สายตาผู้คน ในขบวนแห่เทียนพรรษาประจำปีอันยิ่งใหญ่งดงามของจังหวัดอุบลราชธานี

ขอบคุณรูปภาพจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment